วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2552

ตัวอย่างคำกล่าวต่าง ๆ

1. คำกล่าวรายงาน

คำกล่าวรายงานต่อประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม
หลักสูตร “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสหกรณ์”
วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม 2551
ณ ห้องประชุมวลัย โรงแรมหาดใหญ่รามา
เวลา 09.00 น.
...........................................................
เรียนท่าน รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ท่านปราโมช ถาวร

กระผมในนามของ สำนักพัฒนาระบบการบริหารการจัดการสหกรณ์ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 18 จังหวัดสงขลา และผู้เข้ารับการอบรม ขอขอบพระคุณท่านอธิบดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม หลักสูตร “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสหกรณ์” ในวันนี้
การจัดฝึกอบรม หลักสูตร “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสหกรณ์” นี้ ได้จัดขึ้น ตามแผนปฏิบัติงานประจำปี 2551 ของกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ที่กำหนดให้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการจัดการสหกรณ์แก่ ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ลูกค้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ โดยแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 5 รุ่น และรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 5 จัดระหว่างวันที่ 27 – 28 สิงหาคม 2551 มีผู้เข้าอบรม จำนวนทั้งสิ้น 150 คน จากสหกรณ์ต่างๆ ในจังหวัด ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
การฝึกอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการสหกรณ์ แก่ลูกค้าของกองทุนพัฒนาสหกรณ์ การให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับกองทุนพัฒนาสหกรณ์และเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน โดยได้รับความร่วมมือด้านวิทยากรจาก ภาครัฐ และเอกชน ในการสร้างความเข้าใจ เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร การบริหารการจัดการสหกรณ์แบบมีส่วนร่วม และหลักเกณฑ์การกู้เงิน กพส. ทั้งนี้ คาดหวังว่าผู้เข้าอบรมสามารถนำแนวทางการบริหารไปพัฒนาสหกรณ์ ให้มีความเข้มแข็งในโอกาส ต่อไป
บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว กระผมขอเรียนเชิญรองอธิบดี กล่าวเปิดการฝึกอบรม หลักสูตร “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสหกรณ์”ด้วย
.........................................................................
2. คำกล่าวเปิดงาน
คำกล่าวของประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม
หลักสูตร “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสหกรณ์”
วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม 2551
ณ ห้องประชุมวลัย โรงแรมหาดใหญ่รามา
เวลา 09.00 น.
..........................................................
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ผู้ตรวจราชการสหกรณ์เขตตรวจราชการที่ 6 และ 8 ผู้เข้าอบรมและผู้มีเกียรติทุกท่าน
กระผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม ในวันนี้
จากคำกล่าวรายงานของผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบการบริหารจัดการสหกรณ์ ถือว่าเป็นแนวทางการพัฒนาสหกรณ์ที่ถูกต้อง และเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อการใช้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการจัดตั้งเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ที่มีต่อสหกรณ์ ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542
ความเข้มแข็งของสหกรณ์ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านเงินทุน การบริหารจัดการของคณะกรรมการ การมีส่วนร่วมของสมาชิกเป็นหลัก ฉะนั้น การเพิ่มโอกาสให้กรรมการ ฝ่ายจัดการ ได้ประชุมร่วมกันเพื่อทราบทิศทางการบริหารเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เป็นการป้องกันความผิดพลาดทางการเงิน และรู้แนวทางการบริหารเงินทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสหกรณ์ และป้องกันอัตราความเสี่ยงในการบริหารเงิน
ผมขอขอบคุณ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ได้ดำเนินการให้มีการจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ และขอขอบคุณผู้เข้าอบรมทุกคน ที่มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกัน และหวังว่าการฝึกอบรมครั้งนี้จะบรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ

บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว กระผมจึงขอเปิดฝึกอบรมหลักสูตร “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสหกรณ์” ณ บัดนี้
................................................................
3. คำกล่าวปิดงาน
คำกล่าวปิดงาน
มหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติครั้งที่ 6: Linux Empowerment
วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2547
ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
..............................................................
เรียน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สื่อมวลชน และผู้ร่วมงานทุกท่าน
ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขอ แสดงความยินดีในความสำเร็จของการจัดงาน มหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติครั้งที่ 6: Linux Empowerment ซึ่งเป็นงานที่มุ่งเน้นให้ ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการขนาดย่อม ได้รับทราบถึงทางเลือกใหม่ในการเลือกใช้ซอฟต์แวร์
ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกระทรวงที่มี บทบาทหลักในการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาทางด้านซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส โดยมอบหมายให้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาด้าน โอเพนซอร์ส รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้กันมากขึ้นด้วย
ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ไม่ใช่แค่ซอฟต์แวร์ฟรี ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เป็นกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เพราะเกิดจากการพัฒนาโดยประชาคมขนาดใหญ่ซึ่งมาจากทั่วโลก ไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ภาษา นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากเอกชนรายใหญ่ๆ หลายราย รวมทั้งภาคการศึกษาคือ สถาบันการศึกษาทั่วโลก ก็ร่วมสนับสนุนด้วย ส่วนความสามารถของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สนั้น ท่านคงได้รับทราบจากวิทยากรแต่ละช่วง รวมทั้งบูธนิทรรศการด้านนอกแล้ว
ประโยชน์ของการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สมีหลายประการ คือ
1. ประเทศชาติ ลดการนำเข้าซอฟต์แวร์สำเร็จรูปจากต่างประเทศ ซึ่งแต่ละปีเราต้องจ่ายหลายพันล้านบาทเพื่อซื้อซอฟต์แวร์ ยิ่งถ้าต้องซื้อให้ครบตามจำนวนเครื่องจริงๆ จะต้องใช้เงินปีละนับหมื่น หรือแสนล้านบาท
2. ประเทศชาติได้รับเทคโนโลยีทางด้านซอฟต์แวร์ระดับโลก โดยลงทุนน้อยมาก ด้วยการส่งเสริมให้ศึกษาและร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สให้มากๆ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้โดยลัด เพราะเข้าไปศึกษาได้ตั้งแต่วางโครงการ การออกแบบ การเขียนโค้ดโปรแกรม การทดสอบหาข้อผิดพลาด ฯลฯ
3. คนไทยใช้ซอฟต์แวร์ในราคาถูกลง ปัจจุบัน คนไทยต้องซื้อซอฟต์แวร์ยอดนิยมที่ใช้งานกันทั่วไป ในราคาแพงมาก ปีที่แล้วมีการวิจัยของต่างประเทศพบว่า เมื่อเทียบกับ GDP แล้ว โดยเฉลี่ยคนไทยต้องใช้เงินเดือน 3.59 เดือน ถึงจะซื้อซอฟต์แวร์ยอดนิยมชุดนั้นได้ ซึ่งยังดีกว่าบางประเทศ ต้องใช้ถึง 39.76 เดือน ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้เพียง 0.19 เดือนเท่านั้น ถ้าคนไทยเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส จะลดต้นทุนได้มาก คือแทบไม่ต้องจ่ายเลย
4. ลดการผูกขาด ลินุกซ์และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส มีผลกระทบสูงมาก จนบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ยังยอมรับว่า ลินุกซ์คือคู่แข่งที่สำคัญ ผลที่เกิดขึ้นคือ มีการลดราคาซอฟต์แวร์ชุดพิเศษ สำหรับประเทศในกลุ่มที่ 3 ซึ่งประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งราคาลดลงมาถึง 10 เท่าเลยทีเดียว ปรากฏการณ์นี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน
5. การวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐและภาคการศึกษา ควรสนับสนุนให้ เผยแพร่ด้วยวิธีโอเพนซอร์ส เพื่อให้ผู้อื่น รับไปพัฒนาต่อได้ ทำให้ไม่ต้องพัฒนาจากศูนย์ ในขณะเดียวกัน ก็มีกลไกที่จะคุ้มครองความเป็นเจ้าของได้ ซึ่งเนคเทคก็เริ่มดำเนินการไปบางส่วนแล้ว
บทบาทการวิจัยและพัฒนาด้านซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นี้ กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เป็นผู้ดำเนินการ โดยได้เริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวกับโอเพนซอร์สมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผลงานเด่นๆ คือ
- ลินุกซ์ซิส (Linux SIS) สำหรับใช้เป็นเซิร์ฟเวอร์ในโรงเรียน เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการเครือข่ายโรงเรียนไทย
- ลินุกซ์ทะเล เพื่อการใช้งานบนคอมพิวเตอร์เดสก์ทอป หรือโน้ตบุ๊ก
- ออฟฟิศทะเล สำหรับใช้เป็นซอฟต์แวร์พื้นฐานในสำนักงาน
- พัฒนาลินุกซ์ทะเลสำหรับคอมพิวเตอร์ไอซีทีเพื่อประชาชน ในปีที่ 1 ซึ่งติดตั้งลินุกซ์ทะเลพร้อมใช้ในเครื่องถึงประมาณ 100,000 เครื่อง คิดเป็น 80% ของจำนวนเครื่องทั้งหมด ส่วนในปีที่ 2 ซึ่งกำลังดำเนินโครงการ มี การเลือกใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ทะเล ประมาณ 50%
- โครงการ School Net ผลักดันการเรียนการสอนในห้องเรียน โดยจัด อบรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส 26 โรงเรียน ผลคือ มี 18 โรงเรียน สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้จริง
- สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มองค์กร หน่วยงาน และบริษัทเอกชนเกี่ยวกับโอเพนซอร์ส เพื่อก่อตั้งสมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย
- จัดกิจกรรมส่งเสริมนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ให้สนใจระบบปฏิบัติการลินุกซ์ และการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ทำงานได้บนลินุกซ์ โดยจัดประกวดแข่งขันติดตั้งระบบปฏิบัติการลินุกซ์ และประกวดการพัฒนาซอฟต์แวร์บนลินุกซ์ ซึ่งจะจัดทุกปี
- สนับสนุนโครงการโรงเรียนในฝัน โดยจัดหาเครือข่าย เซิร์ฟเวอร์ ผู้ดูแลระบบ เพื่อให้บริการเว็บโรงเรียนต้นแบบ 921 โรง และกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาลินุกซ์ซิสรุ่นใหม่ เพื่อเป็นเซิร์ฟเวอร์ต้นแบบ สำหรับใช้ในสถานศึกษาโดยเฉพาะด้วย
สุดท้ายนี้ ผมขอของคุณทุกท่านที่ช่วยในการจัดงานมหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติ ครั้งที่ 6 นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ ได้แก่ บริษัท แอปเปิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไอซ์ โซลูชั่น จำกัด หน่วยวิจัยภาษาศาสตร์คำนวณ สมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย และอีกหลายๆ หน่วยงานที่ร่วมนำผลงานมานำเสนอในงานนี้ และขอบคุณผู้ที่มาร่วมงานทุกท่าน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นับจากวันนี้ไป คนไทยจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์อย่างถูกต้อง มีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่หลากหลายและมีคุณภาพใช้ และใช้กันมากขึ้นต่อไป
.............................................................
4. คำกล่าวแนะนำบุคคล
นางสาวงามพรรณ เวชชาชีวะ
นางสาวงามพรรณ เวชชาชีวะ เป็นนักเขียน นักแปลผู้มีชื่อเสียง และนักธุรกิจเกี่ยวกับลิขสิทธิ์วรรณกรรม เจ้าของรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2549 ประเภทนวนิยาย จากงานเขียน "ความสุขของกะทิ" เกิดเมื่อ 27 มกราคม พ.ศ. 2506 ที่กรุงลอนดอน อังกฤษ สหราชอาณาจักร เป็นบุตรีของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ ศาสตราจารย์แพทย์หญิง สดใส เวชชาชีวะ เป็นบุตรีคนกลาง มีพี่สาว คือ ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็ก และมีน้องชายคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ ผลงานที่ผ่านมาของนางสาวงามพรรณ เวชชาชีวะ ก็จะมี งานแปล มีผลงานการแปลจากภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และภาษาอื่น กว่า 20 เรื่อง ได้แก่ ภิกษุกับนักปรัชญา, คู่มือธุรกิจลิขสิทธิ์, ด้วยรักและช็อกโกแลต, แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี, หนึ่งปีแสนสุขในโปรวองซ์, แสนสุขเสมอในโปรวองซ์, มาตาปารี เด็กชายจากดวงดาว, ไฮดี้, เดเปอโร รักยิ่งใหญ่จากใจดวงเล็ก, ไหม, ไร้เลือด เป็นต้น งานเขียนของตัวเอง นิยามความรัก, ความสุขของกะทิ และภาคต่อ ความสุขของกะทิ ตอน ตามหาพระจันทร์ เกียรติประวัติที่ได้รับ อิสริยาภรณ์ศิลปะและอักษรศาสตร์ชั้นอัศวิน (Chevalier de l’Ordre des Arts et des Lettres) จากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ในฐานะผู้มีผลงานด้านวรรณกรรม และเผยแพร่วัฒนธรรมฝรั่งเศส และได้รับรางวัล วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2549 ประเภทนวนิยาย จากผลงานเขียนเล่มแรก "ความสุขของกะทิ" ที่ขายลิขสิทธิ์ไปแล้ว 5 ภาษา ใน 6 ประเทศ (สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และ สเปน)
.............................................................
5. คำกล่าวปราศรัย
คำกล่าวปราศรัย
ของ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เนื่องในโอกาสวันต่อต้านยาเสพติด
๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๘
...........................................
พี่น้องประชาชนที่เคารพรักทุกท่าน
ผมมีความยินดีที่ได้มาปราศรัยกับพี่น้องประชาชนชาวไทยเนื่องในโอกาส “วันต่อต้านยาเสพติด” ในวันนี้
องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันต่อต้านยาเสพติด” เพื่อให้สังคมโลกตระหนักถึงอันตรายของยาเสพติด และพร้อมใจกันจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อร่วมกันขจัดปัญหายาเสพติดให้เบาบางลงหรือให้หมดสิ้นไป
สำหรับประเทศไทยได้มีการดำเนินการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยรัฐบาลได้ประกาศทำสงครามกับยาเสพติดตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ และ มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการป้องกันและปราบปรามทั้งกระบวนการอย่างเด็ดขาด ทั้งด้านผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้เสพ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดพลังของแผ่นดินในการขจัดยาเสพติด เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
ผลของการดำเนินงานในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมานี้ ปรากฏว่าปัญหายาเสพติดได้ลดระดับความรุนแรงลงอย่างมากและสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แม้ในขณะนี้เราก็ยังคงดำเนินการดูแล ป้องกัน และปราบปรามอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อไม่ให้ยาเสพติดหวนกลับคืนมาสู่สังคมไทยอีก และที่สำคัญประเทศไทยได้ดำเนินการเชิงรุก โดยประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการแก้ปัญหายาเสพติด ทั้งด้านการข่าว การปราบปราม และการร่วมกันจับกุมนักค้ารายสำคัญ ส่วนด้าน การบำบัดผู้ติดยาได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ รวมทั้งได้มี การจัดตั้งศูนย์บำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในประเทศลาว เพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้ย้อนกลับเข้ามาสู่ประเทศไทยอีกต่อไป
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีนโยบายช่วยเหลือประเทศ เพื่อนบ้านในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีความเกี่ยวพัน สอดคล้อง และส่งเสริม กับแผนการปราบปรามยาเสพติดของประเทศไทย โดยมีฐานความคิดว่าเมื่อประเทศเพื่อนบ้านมีเศรษฐกิจดี ปัญหายาเสพติดที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะบรรเทาเบาบางลงไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งสำคัญที่รัฐบาลให้ความใส่ใจอย่างมากก็คือ การทำให้สังคมไทยมีความมั่นคง สงบสุข ชุมชนมีความเข้มแข็ง และครอบครัวมีความอบอุ่น การสร้างสังคมให้น่าอยู่จะช่วยป้องกันปัญหายาเสพติดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาต่อเนื่องต่าง ๆ ได้หมดสิ้นไปด้วย
ขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดให้นโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้มีการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนของสังคม เป็นพลังของแผ่นดินในการต่อสู้และเอาชนะปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคน ร่วมเป็นพลังสำคัญในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้หมดไป หรือช่วยแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับผู้ค้า ผู้เสพ หรือผู้ติดยาเสพติด ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าไปแก้ไขปัญหาหรือดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
วันต่อต้านยาเสพติด ประจำปี ๒๕๔๘ นี้ มีคำขวัญว่า “พลังไทย ต้านภัยยาเสพติด” ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมให้พี่น้องคนไทยร่วมเฝ้าระวัง และร่วมป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยในส่วนกลางจะมีการจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ มิถุนายน ศกนี้ ที่เมืองทองธานี มีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การมอบเงินให้แก่หมู่บ้านปลอดยาเสพติด กิจกรรมขอขมาแผ่นดิน โดยการนำผู้เลิกพฤติกรรม ค้ายาเสพติด จำนวน ๓๐๐ คน มาร่วมพิธี และกิจกรรมอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ผมจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนให้หาโอกาสและเวลามา ร่วมงาน ซึ่งจะได้ทั้งความรู้ และความบันเทิงไปพร้อม ๆ กัน
ในโอกาสนี้ ผมขออำนวยพรให้พี่น้องคนไทย ตลอดทั้ง เจ้าหน้าที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหายาเสพติดทุกคน จงประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงทั้งทาง ร่างกาย และจิตใจ เพื่อเป็นพลังสำคัญของแผ่นดินในการแก้ไขปัญหา ยาเสพติด และร่วมพัฒนาสังคมไทยให้รุ่งเรืองสถาพรตลอดไป
................................................................

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สารคดี

( สุชัญญา วงค์เวสช์ เรียบเรียง )
มวยไทย มรดกชาติ

เมื่อถึงวันเสาร์ อาทิตย์ ฉันจะรู้สึกมีความสุขมากที่จะได้พักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์ได้นั่งดูรายการโทรทัศน์ที่โปรดปราน แต่ความสุขมักจะย่อมมีอุปสรรคมาขัดขวาง นั่นคือ พ่อชอบแย่งดูรายการ “มวยไทย” ตอนนั้นฉัน คิดว่ามันเป็นอะไรที่น่าเบื่อที่สุด และเป็นกีฬาที่รุนแรง แต่พอฝืนใจลองทนนั่งดู สักพักกับเห็นชาวต่างชาติให้ความสนใจในกีฬามวยไทยมาก มันทำให้ฉันคิดได้ว่าเราเองเป็นคนไทยควรที่จะอนุรักษ์ส่งเสริมกีฬาไทยซึ่งเป็นมรดกของชาติ ฉันเลยไปค้นคว้าหาความรู้เรื่องมวยไทยไว้เผยแพร่ต่อไปมวยไทยเป็นวิชาการต่อสู้และป้องกันตัวที่ยืนหยัดสืบต่อกันมาไม่น้อยกว่า 2,000 ปี มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากมวยต่างประเทศ คือ มวยไทยต้องใช้อาวุธทุกส่วน และต้องอาศัยกำลังกาย กำลังใจ สติปัญญาในการต่อสู้ ซึ่งเป็นการต่อสู้โดยใช้อวัยวะเป็นอาวุธธรรมชาติที่มีมาแต่กำเนิดมวยไทยได้ขึ้นชื่อว่ากำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการก่อร่างสร้างตัวของชาติ ในสมัยนั้นได้มีการรบราฆ่าฟันระหว่างชนชาติใกล้เคียงตลอดเวลา เพื่อแย่งชิง และครอบครองดินแดนต่างๆ ชาติไทยจึงต้องมีการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับข้าศึกเพื่อป้องกันชาติ ในสมัยนั้นอาวุธต่างๆยังไม่เจริญมากนัก คนโบราณจำเป็นต้องสู้รบโดยใช้อาวุธธรรมชาติ คือ หมัด ศอก เข่า เตะ เข้าต่อสู้กับเหล่าศัตรูทั้งหลาย เพราะเหตุนี้มวยไทยจึงได้รับความนิยมฝึกหัดในหมู่นักรบสมัยโบราณเรื่อยมา มวยไทยนอกจากจะเป็น การต่อสู้ที่ได้มีส่วนกอบกู้อิสรภาพ ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว ยังเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นมรดก และสร้างชื่อเสียงให้กับ ชาติไทย นั่นคือ “การไหว้ครูมวย” เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่งความอ่อนน้อม ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณที่เคยมีต่อตน ก่อให้เกิดการหวนรำลึกถึง พระคุณครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิประสาทวิทยาการมวยไทยให้ การไหว้ครูจึงส่งผลให้มวยไทยต้องประกอบไปด้วยลักษณะของการว่าง่าย ความรู้จริง กล้าหาญ อดทน มีน้ำใจและกตัญญูซื่อสัตย์ หากขาดข้อใดข้อหนึ่งไปแล้วก็จะไม่เรียกว่ามวยไทยที่สมบูรณ์ เมื่อพลิกประวัติศาสตร์ชาติไทย เราจะได้เห็นความสำคัญของมวยไทย ที่ได้แสดงออกถึงฤทธิ์เดชและอานุภาพที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามวยชาติใดๆ นักมวยไทยที่สร้างความเลื่องลื่อของศิลปะมวยไทย ในดินแดนมอญ พม่า นั่นคือ นายขนมต้มที่สามารถปราบนักมวยเอกของพม่า 9 คน ติด ๆ กัน ต่อหน้าพระที่นั่งของพระเจ้าอังวะ ในงานฉลองยกฉัตร พระมหาเจดีย์ธาตุ ทำให้พระเจ้าอังวะถึงกับตบพระอุระตรัสสรรเสริญมวยไทยว่า “...ไทยมีพิษสงอยู่ที่ตัวแม้มือเปล่า ๆ ไม่มีอาวุธเลย คนเดียวแท้ ๆ ก็ยังเอาชนะคนได้เป็นจำนวนมาก มีฝีมือมวยแสนวิเศษ...” ต่อมาจึงมีคำกล่าวถึงมวยไทยและนายขนมต้มว่า

อันมวยใดไป่แม้น มวยไทย
หมัดเข่าเท้าศอกไว ว่องแท้
แม้ร่างเล็กแต่ใจเด็ดเดี่ยว จริงแฮ
มอญพม่าทั้งเก้าแพ้ พ่ายสิ้นมวยไทย
ขนมต้มนามท่านนี้ โด่งดัง จริงเฮย
ลับแต่ชีพนามยัง เด่นไซร้
เรานี้เกิดภายหลัง ยังทราบได้นา
นำเกียรติสู่ชาติได้ พรรคพร้องสรรเสริญ
จะเห็นได้ว่าตำนานของมวยไทยมีความสำคัญ และมีคุณค่ามากต่อชาติไทย
ที่มีส่วนในการป้องกันประเทศกอบกู้อิสรภาพให้ชาติ และยังสร้างชื่อเสียงอันเป็นเกียรติภูมิต่อประเทศ ถือได้ว่ามวยไทยเป็นมรดกที่คนไทยควรอนุรักษ์ และสืบสานต่อไป ศิลปะมวยไทยในปัจจุบันกำลังเสื่อมและสูญหายไป เพราะคนไทยไม่สนับสนุนและส่งเสริม แต่กลับไปให้ความนิยมกับศิลปะการต่อสู้ของชาวต่างชาติ มรดกชิ้นสุดท้ายทางวัฒนธรรมของไทยเริ่มเสื่อมลง เมื่อถูกชาวต่างชาตินำไปลอกเลียนแบบและตั้งเป็นศิลปะของเขา ซ้ำยังย่ำยีนักมวยไทยจนสลบคาเวทีต่างชาติมานักต่อนักแล้ว ... แบบนี้ลูกหลานคนไทยยังทนนิ่งดูดายต่อไปได้อีก
********************************************************************

ข่าวแจก



สวนดุสิตประกาศเน้น 4 สาขารุกสร้างจุดแข็งมหาวิทยาลัย

"มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต" จัดเป็นมหาวิทยาลัยที่นักศึกษามีความต้องการเข้าศึกษาต่อเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชื่อเสียงทางด้านการทำขนมเบเกอรีทีได้รับการยอมรับว่ารสชาติเป็นเลิศ

ภายใต้การบริหารงานของ ผศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธ์ธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏดุสิต(มสด.) จะสร้างอัตลักษณ์ของตนเองได้เด่นชัดที่สุด ซึ่ง ศ.ดร.ศิโรจน์ เปิดเผยว่า มสด.มีความ โดดเด่นในการจัดการเรียนการสอนใน 4 สาขา ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมอาหาร สาขาอุตสาหกรรมการโรงแรม และการบริการ สาขาการศึกษาปฐมวัย และสาขาพยาบาลศาสตร์ และการดูแลผู้สูงวัย ในอนาคต มสด.จะพัฒนาให้มีความแข็งแกร่งในหลักสูตรเฉพาะทางทั้ง 4 ด้าน ยิ่งขึ้นไปอีก

"เราจะปรับลดจำนวนการรับนักศึกษาลงด้วย ซึ่งปีการศึกษาที่ผ่านมารับอยู่ที่ 5,500 คน ปีการศึกษานี้เรารับเพียง 3,500 คน และปีต่อไปจะรับนักศึกษาเพียง 2,500 คน และจะยืนพื้นรับนักศึกษาอยู่เพียง 2,500 คน เท่านั้น เพื่อสร้างนักศึกษาให้มีคุณภาพ สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของมหาวิทยาลัย"

อธิการบดี มสด. กล่าวอีกว่า ขณะนี้การก่อสร้าง อาคารเรียนภายใน มสด. ใกล้แล้วเสร็จแล้ว ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจะดึงเอานักศึกษาที่เรียนอยู่ตามศูนย์ต่างๆ ใน กทม.และปริมณฑลกลับเข้ามาเรียนภายในมหาวิทยาลัย โดยได้ยุบศูนย์การเรียน มสด.ใน กทม. และเขตปริมณฑลไปแล้ว 4 ศูนย์ เหลือเพียง 2 ศูนย์เท่านั้น ที่เหลือเป็นศูนย์ฯที่เปิดสอนอยู่ในต่างจังหวัด และแม้ว่านักศึกษาในต่างจังหวัดจะต้องเรียนในศูนย์ฯ แต่การเรียนการสอนจะมีมาตรฐานเทียบเท่ากับนักศึกษาส่วนกลาง เพราะเราใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงไปยังศูนย์ฯ ทำให้การเรียนไม่ต่างจากในสถาบัน "เราตั้งเป้าหมายไว้เลยว่า บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากสวนดุสิตจะต้องมีบุคลิกภาพที่ดี เชี่ยวชาญในเรื่องที่เขาศึกษา ซึ่งแต่ละสาขาก็จะสอดคล้องกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้บัณฑิต ที่จบออกไปจะต้องมีความสามารถในการใช้ภาษา และเทคโนโลยีได้อย่างดี" ด้านคุณสมบัติอันพึงประสงค์ของบัณฑิต มสด. ดังกล่าว ผศ.ดร.ศิโรจน์จึงได้มีนโยบายแจกคอมพิวเตอร์ แบบพกพา หรือโน้ตบุ๊กให้แก่นักศึกษา โดยนักศึกษาที่เข้ามารายงานตัวเรียนกับทางสวนดุสิต หากมีผลการเรียนในภาคเรียนแรกเกิน 1.6 ก็จะได้รับโน้ตบุ๊กไปใช้ ซึ่งทุกปีต้องนำโน้ตบุ๊กมาตรวจสภาพกับ มสด. แต่หากนักศึกษาเรียนจบปีที่ 3 โน้ตบุ๊กจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เรียนเลย โดยไม่ต้องนำเครื่องมาคืน "ในแต่ละปีเราจะใช้งบประมาณสำหรับแจกโน้ตบุ๊กให้นักศึกษาปีละประมาณ 135 ล้านบาท ที่เราทำโครงการนี้เพราะหลักสูตรของเรามีการทำเป็น e-learning ที่นักศึกษาสามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้ การแจกโน้ตบุ๊กมาตรวจสภาพกับ มสด.แต่หากนักศึกษาเรียนจบปีที่ 3 โน้ตบุ๊กจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เรียนเลย โดยไม่ต้องนำเครื่องมาคืน "ในแต่ละปีเราจะใช้งบประมาณสำหรับแจกโน้ตบุ๊กให้นักศึกษาปีละประมาณ 135 ล้านบาท ที่เราทำโครงการนี้เพราะหลักสูตรของเรามีการทำเป็น e-learning ที่นักศึกษาสามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้ การแจกโน้ตบุ๊กทำให้นักศึกษาสามารถนำไปใช้ในการเรียน ทำรายงาน หรือ เข้าห้องสมุดจากที่บ้านได้โดยภายในมหาวิทยาลัยเราก็จะติดระบบไวร์เลส ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้โน้ตบุ๊กได้อย่างเต็มที่ด้วย และหากเราไม่แจกโน้ตบุ๊ก เราก็ต้องเสียงบประมาณจัดหาคอมพิวเตอร์ไว้ให้นักศึกษาใช้ ซึ่งเราต้องทำห้องสำหรับเก็บคอมพิวเตอร์ ต้องเสียค่าซ่อม บำรุง และดูแลรักษา ตลอดจนการทำระบบรองรับสิ่งเหล่านี้เป็นรายจ่ายที่ต้องจ่ายทุกปี และคอมพิวเตอร์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซื้อมาไม่นานก็มีการปรับเปลี่ยนใหม่ ดังนั้น การซื้อโน้ตบุ๊กแจกนักศึกษาจึงถือว่าคุ้มค่ากว่ามาก และนักศึกษาก็สามารถใช้งานได้ตลอดเวลาด้วย ซึ่งในอนาคตการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตจะเป็นปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน"

อธิการบดี มสด.ยังได้กล่าวถึงหลักสูตรการศึกษาพิเศษของ มสด.ที่ถือว่ามีความโดดเด่นอย่างมากว่า ขณะนี้เปิดสอนระดับปริญญาโท โดยไม่ได้เปิดรับในหลักสูตรปกติมา 3 ปีแล้ว เนื่องจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้กำหนดว่า ผู้ที่จะสอนเด็กพิเศษได้จะต้องสำเร็จการศึกษาหลักสูตรการศึกษาพิเศษระดับปริญญาโท แต่หลักสูตรที่เปิดสอนมาก่อนหน้านั้น เป็นหลักสูตร 5 ปี ดังนั้น บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปจึงไม่สามารถไปเป็นครูผู้สอนเด็กพิเศษได้ ทำให้ต้องเปิดหลักสูตรปริญญาโทเพื่อรองรับบัณฑิตที่จบการศึกษาหลักสูตร 5 ปีของสวนดุสิต และจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นๆ อีก 11 แห่งที่เปิดสอนหลักสูตรดังกล่าว โดยมีเป้าหมายว่า จะยังไม่เปิดสอนหลักสูตร 5 ปี จนกว่าบัณฑิตหลักสูตร 5 ปี จะสำเร็จปริญญาโทเป็นส่วนใหญ่ แต่จะเปิดหลักสูตรการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษในระดับปริญญาเอกเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ เพื่อให้บัณฑิตกลุ่มนี้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างแท้จริง "การที่หลักสูตรการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษของสวนดุสิตได้รับการยอมรับอย่างมากนั้น เป็นเพราะแต่ละปีเราจะมีเด็กพิเศษ ทั้งผู้พิการ ทางสายตา ผู้พิการทางหู ผู้พิการแขนขา หรือผู้พิการด้านอื่นๆ เข้ามาศึกษาด้วย ทำให้เรามีพัฒนาการในการเรียนการสอนไปมาก เพราะเขาเป็นผู้ประสบปัญหาอย่างแท้จริง และเมื่อเรียนจบผู้พิการที่จบจากสวนดุสิตก็ได้กลับไปทำงานเพื่อกลุ่มเด็กพิเศษจริงๆ ด้วย"

"ในอนาคตผมวางเป้าหมายสำหรับสวนดุสิตไว้ว่า เมื่อพูดถึงหลักสูตรเรื่องอาหาร ต้องนึกถึงสวนดุสิต เมื่อพูดถึงการโรงแรมก็ต้องนึกถึงสวนดุสิต เมื่อพูดถึงหลักสูตรปฐมวัยก็ต้องที่สวนดุสิต และหากพูดเรื่องพยาบาลศาสตร์ หรือการดูแลผู้สูงวัย ก็ต้องที่นี่ เราจะเอาจุดแข็งของเราไปแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ และผลักดันให้เป็นมหาวิทยาลัยในระดับแถวหน้าได้อย่างแน่นอน" ผศ.ดร.ศิโรจน์สรุป

ฝ่ายประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
เบอร์ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ 02-244-5101










วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ ทั้ง 3 ลักษณะ

1. ข่าวเกี่ยวกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรง

สวนดุสิต มอบปริญญากิตติมศักดิ์
แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ราย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จกาศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคกลาง ๑๕ แห่ง ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๐-๒๕๕๑ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มีบัณฑิตทั้งสิ้น ๑๒,๘๘๔ คน มีกำหนดเข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในวันที่ ๒๗-๒๘กุมภาพันธ์ และ ๑ มีนาคม ๒๕๕๒ ณ อาคารใหม่สวนอัมพร

รศ.ดร. ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระเมตตาอย่างหาที่สุดไม่ได้ ต่อบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง ในปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จแทนพระองค์ไปในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นประจำทุกปี
โดยในปีนี้สภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบ มอบปริญญากิตติมศักดิ์สาขาต่างๆ ได้แก่ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ การจัดการดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์นายขวัญแก้ว วัชโรทัย การจัดการดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ การจัดการดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และนายอำนวย ฉาบทอง รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์
นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณและมหามิ่งมงคลอย่างหาที่สุดมิได้ ตลอดจนเป็นเกียรติประวัติและยังความปลื้มปิติแก่ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และพสกนิกรชาวไทยสืบไป
2. ข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมที่จัดทำเพื่อการประชาสัมพันธ์
ชมนิทรรศการ “ICT 2009 สู่อนาคต”

ศูนย์ระนอง 2 หลักสูตรนิเทศศาสตร์
ขอเชิญร่วมโครงการสัมมนาวิชาการ
ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร “ICT 2009”
สุดยอดงานแสดงผลงานวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ชมนิทรรศการ “ICT 2009 สู่อนาคต”
การสัมมนาวิชาการ ICT 2009 ในหัวข้อ “โลก ICT แห่งอนาคต”
จากค่ายยักษ์ใหญ่ AIS DTAC และ TRUE
การเดินแบบแฟนซีแนวสาระเทคโนโลยี จากนางแบบระดับแนวหน้า
ชม Talk show เดี่ยว “แนวโน้ม ICT กับเยาวชนไทย”
จากพิธีกรรายการ IE show ช่อง 5 คุณพงษ์สุข หิรัญพฤกษ์
การแสดงชุดชนะเลิศการประกวด
MBK จูเนียร์ อะวอร์ดแห่งประเทศไทย
กิจกรรมและนันทนาการ ภายในงาน อาทิเช่น
การสอนสร้างเว็บบล็อก การผลิตชิ้นงาน
ด้านการออกแบบด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เช่น โปสเตอร์ ถ่ายภาพแฟชั่น และการ
ออกร้านแสดงสินค้าอีกมากมาย..
วันศุกร์ที่ 30 มกราคม 2552 เวลา 9.30-16.00 น.
ณ ลานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต
จัดโดย นักศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตร์
ชั้นปีที่1 (ตอนเรียน C2) ศูนย์ระนอง 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
3. ข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสังคมแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรง
แพทย์จุฬาฯ เตือนผู้บริโภคระวังรับพิษปลาปักเป้าไม่รู้ตัว
ใน การสัมมนาเรื่อง "ทางออกของปลาปักเป้าจะเป็นอย่างไร" จัดโดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เกี่ยวข้องนำเสนอถึงผลกระทบของปลาปักเป้าต่อสังคมไทย ซึ่งต่างยอมรับว่านับวันปัญหาจะรุนแรงและกระทบทั่วถึงกัน นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ เปิดเผยกรณีศึกษาผู้ที่รับประทานอาหารที่มีพิษที่มีส่วนประกอบของปลา ปักเป้าปนอยู่โดยไม่รู้ตัวพบว่า ผู้ที่รับพิษปลาปักเป้าจากการรับประทานก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง พิษจะเกิดได้รวดเร็วภายใน 15 นาที หลังรับประทานเข้าไป ซึ่งจะพบมีอาการชาตามปาก มือ แขน ขา ส่วนตัวเลขการรับผู้ป่วยที่ได้รับพิษปลาปักเป้าตั้งแต่ปี 2472 ถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยประมาณ 115 คน จำนวนนี้เสียชีวิต 15 คน เฉพาะปี 2550 มีผู้ป่วย 9 ราย ซึ่งจากกรณีศึกษาไม่พบมีใครเสียชีวิต เพราะมาพบแพทย์ทัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทีมวิจัยของแพทย์ได้ตามเก็บตัวอย่างพบว่ามีการขายปักเป้าโดยทั่วไปตามตลาด ทั่วไปในราคาถูก เช่น ตลาดบางกะปิ เทเวศร์ ลาดพร้าว ผู้ค้าใช้ชื่อทางการค้าว่าปลาเนื้อไก่ หรือปลาช่อนทะเล ดังนั้น ผู้บริโภคควรระมัดระวังตัวเอง โดยให้สังเกตเนื้อปลาที่ไม่มีหนังเหมือนเนื้อไก่ เนื้อไม่ละเอียด ร่องของเนื้อจะใหญ่และห่าง
พล.ต.ต.วิสุทธ์ วานิชบุตร ผู้บังคับการกองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) กล่าวถึงการตามจับกุมการจำหน่ายปลาปักเป้าผิดกฎหมายว่า พบมากในลักษณะต่างๆ บางครั้งแปรรูปเป็นลูกชิ้น ซึ่งการตามจับทำได้ยาก ส่วนตัวคิดว่าโทษของผู้จำหน่ายยังมีน้อย ต้องหาวิธีให้กฎหมายมีผลบังคับได้ดียิ่งขึ้น
ที่มา : โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 ธันวาคม 2550 12:53 น.